บทสัมภาษณ์แรกของบล็อกอย่างเป็นกันเองที่แอบเกร็งนิดๆ เราเลื่อนหน้าไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ไปเจอทวิตนึงของพี่เป้แห่งเว็บเด็กดี ใช้คำเตะตาเตะใจว่า “เมื่อลูกชาวนาเป็นนักออกแบบ..” เราเลยรีบคลิกไปดูแพคเก็จจิ้งข้าวไทยที่ดูน่าสนใจมากๆรูปนั้น เข้าเพจกดไลค์แล้วรู้สึกอยากคุยด้วยมากๆ อยากฟังที่มาและไอเดียในการสร้าง product packaging จำหน่ายข้าวภายใต้ชื่อว่า “Comacomi”
เมื่อลูกชาวนาเป็นนักออกแบบ คำนี้มีที่มายังไงเอ่ย
เราชื่อ คอมค่ะ ชื่อจริง อารรัตน์ ธนะราช จบสถาปัตยกรรมศาสตร์หลัก จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ
ถ้าให้เล่าเลยก็คือมีอยู่ครั้งนึงค่ะ ช่วงทำธีสิส(วิทยานิพนธ์) วันนั้นตรวจแบบแล้วอาจารย์ไม่ดุเลย ปกติจะโดนดุทุกครั้ง แล้วทำธีสิสนี่จะเครียดมากๆพอเราไม่โดนดุก็ดีใจมาก วันนั้นเลยไปซื้อไก่มาทำไก่บอนชอนเลี้ยงเพื่อน แล้วก็เอาข้าวสารของที่บ้านที่แม่ให้มาเป็นกระสอบเลย เอามาหุงให้เพื่อนๆกิน แล้วเพื่อนก็กินกันแบบอร่อยมากๆ บางคนนี้กินข้าวเปล่าๆเลย ทุกคนชมใหญ่โตโอ้โหมากว่าข้าวอร่อยจัง เหมือนข้าวญี่ปุ่น ยุให้เราเอาไปขาย ตอนนั้นก็เลยทำให้เราเริ่มสนใจขึ้นมา เพราะจริงๆแล้วเป็นคนชอบทำอาหาร อยากเปิดร้านอาหารให้คนมากินข้าวที่ครอบครัวเราปลูกเองและเป็นอาหารฝีมือเราทำ แต่ตอนนั้นเรายังเด็กก็เลยยังไม่ได้ทำอะไรกับมันมากเท่าไหร่ค่ะ
จนเราเรียนจบมาแล้วลองไปเข้าค่ายเกษตรของคูโบต้า เพราะสนใจว่ากว่าชาวนาจะได้ข้าวมามีความเนี่ยมันเป็นยังไง เพราะที่ครอบครัวเราก็เป็นชาวนามาตั้งแต่พ่อแม่ของตายาย บ้านเกิดเราอยู่ลำปางและก็มีที่นาของครอบครัวเราอยู่ที่นั่นด้วย ก็รู้สึกว่าลองไปศึกษาดูงานก่อนเผื่อมันสามารถเอามาพัฒนาที่บ้านเราได้
นี่เลยเป็นที่มาและจุดเริ่มต้นของคำว่า เมื่อลูกชาวนาเป็นนักออกแบบ..
ปกติทำนาไว้สำหรับครัวเรือนอย่างเดียวรึทำเพื่อขายให้พ่อคนกลางคะ
หลักๆคือทำไว้ทานเองเลยค่ะ เมื่อก่อนตากับยายทำแต่เดี๋ยวนี้ต้องจ้างคนมาทำแทนเพราะตาเสียแล้วยายก็แก่มากแล้ว ส่วนลูกๆของยายก็ย้ายมาทำงานในเมืองกันหมดเลยจ้างคนมาดูนาให้แทนค่ะ เมื่อก่อนสมัยยายกับตายังดูแลนาได้ก็ขายด้วยเหลือก็เก็บไว้กินเอง

เราสร้างเพจและแพจเก็จจิ้งขึ้นมาเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย แล้วได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ไหม ?
จริงๆก็คิดว่าทุกคนก็น่าจะกินข้าวกันหมดนะคะ ไม่ได้คิดเลยว่าเราสร้างแพคเกจจิ้งมาเพื่อจะเจาะกลุ่มไหนหรือใครเป็นพิเศษ เพียงแต่คิดว่าสินค้ามันน่าจะถูกเพิ่มมูลค่าได้จากรูปลักษณ์ของมันเองค่ะ เพราะจากที่ลองสังเกตทั่วไปก็จะเจอมีแต่แบบที่ใส่ถุงสูญญากาศวางขาย เราเองก็เคยซื้อมาทานแต่แบบนั้นมันทำให้เก็บรักษายาก แล้วก็เหม็นตู้เย็น ข้อสำคัญเลยมันดูไม่สวยด้วยไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหนในครัวนอกจากในตู้เก็บของ ไว้ในตู้เก็บของมดมอดแมลงแอบมากินอีก เราเลยใช้ความรู้ที่เรียนด้านออกแบบมาลองวิเคราะห์ดูว่าจุดนี้มันจะสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้างค่ะ
“แต่จริงๆแล้วเราอยากให้ตัวข้าวมันมีมูลค่าเพิ่มมากพอที่เราจะมองมันเปลี่ยนไปค่ะ”
ถ้าสังเกตจากที่มีคนมาคอมเม้นต่างๆได้เราเจอตอนนี้คือจะมีคนมาบอกว่า 90 บาทหนึ่งกิโลแพงจังเลย ขายแบบนี้แค่เอาขวดสวยๆมาใส่ อะไรแบบนี้ก็เจอมา คือเราอยากให้คนหลุดจากความคิดแบบนี้ เพราะเรายังดูถูกข้าวของเราอยู่เลยทั้งที่ข้าวไทยมันมีคุณภาพมากๆ
ถ้ามีคนมาชักชวนให้เราลองทำส่งออกหรือวางขายในร้านค้าจะสนใจไหม..
สนใจมากๆค่ะ ตอนแรกสุดไม่คิดว่าจะมีคนสนใจมากมายขนาดนี้ แค่อยากขายข้าวให้ที่บ้าน เหมือนช่วยเหลือที่บ้านไปในตัวด้วยเลยทำเป็นครัวเรือนขาย ไม่ได้มองไปถึงช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน แต่ตอนนี้ก็กำลังคิดจะรวบรวมข้าวจากในหมู่บ้านมาขายด้วยค่ะ
คำถามสุดท้ายก่อนจากกัน ชื่อ Comacomi มีที่มายังไง ❤
มาจากการสลับชื่อกับสระของชื่อเล่นของตัวเองค่ะ ชื่อ คอม แล้วพอลองเอามาเรียงในคันจิภาษาญี่ปุ่นแล้วมันแปลว่า โชค นาข้าว มา ความงาม เราก็เลยคิดว่าเออชื่อเอามาสลับกันไปเรื่อยดันมีความหมายดีอีก ฮ่าๆ เลยเป็นที่มาของชื่อค่ะ ยังไงก็ฝากผลิตภัณฑ์ข้าวไทยของครอบครัวเราด้วยนะคะ มีรายละเอียดราคา ขนาด ปริมาณ ในเพจเลยจ้า

ความในใจจากเจ้าของบล็อก : จริงเราว่าข้าวมันมีมูลค่าอยู่แล้วและมันน่าจะต่อยอดได้มากกว่าการเป็นข้าวที่ซื้อไว้เพื่อครัวเรือนอย่างเดียว แต่แพคเก็จจิ้งสวยๆมันน่าจะเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้คนที่เรารัก เป็นของขวัญวันเกิดหรือวันรับปริญญาแทนดอกไม้ก็ได้ แถมยังเป็นของฝากให้เพื่อนต่างชาติได้ด้วยสำหรับเราเองที่ชอบไปเที่ยวโน้นนี่ มันน่าจะเก๋และน่าจดจำเหมือนกับของขวัญชิ้นอื่นๆเลย มาทำให้ทุกคนรู้กันถอะว่าข้าวไทยเรามีคุณภาพขนาดไหนผ่านแพคเก็จจิ้งน่ารักๆด้วย อย่าให้ใครมากดราคาได้ 🙂 ❤
Comacomi.studio
สั่งซื้อข้าวและติดต่อได้ที่ : FB : comacomistudio
ชอบจังคะ💙
LikeLiked by 1 person